วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เหตุการณ์สำคัญของโลกในรอบปี 2006

ในที่สุดปี พ.ศ. 2549 หรือปี ค.ศ. 2006 ก็ใกล้จะผ่านไปอีกครั้งหนึ่ง อย่างน้อยก็เป็นที่น่ายินดีอย่างหนึ่งว่าในรอบปีที่ผ่านไปไม่มีมหันตภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงและมีคนตายถึงแสน ๆ คนเหมือนภัยจากสึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปีค.ศ.2004 อีก แต่เหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศก็ได้ทวีความเข้มข้นไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะในอิรัก อิหร่าน หรือในตะวันออกกลาง ในเอเชียตะวันออกก็มีเรื่องเกาหลีเหนือที่คนทั่วโลกต้องจับตามองอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นในต้นปี ค.ศ. 2007 นี้ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงที่องค์การสหประชาชาติ โดยนายปัน กีมุน จากเกาหลีใต้ก็จะเข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ แทนนายโคฟี่ อันนัน จากกานาที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้มาถึง 2 สมัย เป็นเวลา 10 ปีเต็ม ทั้งนี้ นาย โคฟี่ อันนัน ได้ไปกล่าวสุนทรพจน์เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ที่ผ่านมา ที่ Harry Truman Museum and Library ที่เมือง Independence รัฐ Missouri มีใจความสำคัญพอสรุปได้ดังนี้

1. สุนทรพจน์ของนาย Kofi Annan เลขาธิการสหประชาชาติ นาย Kofi Annan ได้กล่าวสรุปถึงบทเรียน 5 ประการที่เขาได้รับจากการเป็นเลขาธิการสหประชาชาติมา 10 ปีเต็มคือ


1.1 ในโลกปัจจุบันนี้ ทุก ๆ ประเทศต้องรับผิดชอบในเรื่องความมั่นคงของแต่ละประเทศร่วมกันไม่ว่าจะในเรื่องการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแพร่ขยายของโรคร้ายต่าง ๆ หรือการดำเนินการก่อการร้ายระหว่างประเทศจากที่พักพิงในประเทศที่มีสภาวะไม่ปกติ ไม่มีชาติไหนที่จะสามารถ มีความมั่นคงของตนได้ด้วยการใช้อำนาจบาตรใหญ่เหนือชาติอื่น ๆ ทั้งหมดนี้ ชาติต่าง ๆ จะต้องช่วยกันทำงานให้ชาติอื่นมีความมั่นคง ตนเองจึงจะมีความมั่นคงได้ ทุกชาติจะต้องรับผิดชอบร่วมกันในการที่จะคุ้มครองประชาชนของตนไม่ให้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ซึ่งทุกประเทศได้ให้การรับรองไปแล้วในการประชุมสุดยอดของสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้ว แต่เมื่อเราหันไปดูสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นใน Dafur ในแอฟริกา เราก็จะเห็นได้ว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ยังเป็นเพียงแค่คำพูดเท่านั้น นอกจากประเทศที่มีกำลังอำนาจจะเข้าไปแสดงบทบาทนำในด้านการเมือง เศรษฐกิจหรือแม้แต่ทางทหารซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้ายก็ตาม


1.2 บทเรียนที่สองก็คือ ทุกประเทศจะต้องรับผิดชอบในความเป็นอยู่ของประเทศอื่นด้วย การที่จะปล่อยให้คนเพียงบางคนได้ฉกฉวยประโยชน์อย่างเต็มที่จากโลกยุคโลกาภิวัตน์ขณะที่คนอีกเป็นพันล้านคนต้องตกอยู่ในสภาพแร้นแค้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรเป็นไป


1.3 ทั้งความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของแต่ละประเทศล้วนขึ้นอยู่กับการให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและการที่บ้านเมืองมีขื่อมีแป รัฐก็เช่นกัน จำเป็นที่จะต้องแสดงบทบาทของตนไปตามกฎเกณฑ์ การมีกฎเกณฑ์มากเกินไปไม่ได้มีผลเสียต่อชุมชนใด ตรงกันข้ามผลเสียจะมีมากหากมีกฎเกณฑ์น้อยเกินไป ซึ่งเรื่องนี้ก็ใช้ได้กับชุมชนระหว่างประเทศด้วย


1.4 บทเรียนที่ 4 คือรัฐต้องมีความรับผิดชอบในการกระทำของตนไม่ว่าจะในเวทีการเมืองในประเทศหรือต่างประเทศ ปัจจุบันนี้รัฐที่ยากจนและอ่อนแอเท่านั้นที่จะถูกหยุดยั้งการกระทำของตนได้ เนื่องจากประเทศเหล่านี้ยังต้องอาศัยความช่วยเหลือจากต่างประเทศอยู่ ในขณะที่ประเทศที่มีกำลังอำนาจที่การกระทำของตนมีผลสะท้อนอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศอื่นจะถูกยับยั้งได้ ก็ด้วยประชาชนของตนเองหรือจากการร่วมแรงกันในสถาบันพหุภาคีเท่านั้น


1.5 ดังนั้นบทเรียนบทสุดท้ายก็คือ จะต้องมีการปรับปรุงสถาบันเหล่านี้ในทางที่ยุติธรรมและเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นเพื่อเปิดทางให้ประเทศที่ยากจนและอ่อนแอมีอิทธิพลเหนือการกระทำของประเทศที่ร่ำรวยและมีอำนาจบ้าง เช่น ประเทศที่กำลังพัฒนาก็ควรมีสิทธิมีเสียงมากขึ้นในสถาบันการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อการตัดสินใจบางครั้งของสถาบันเหล่านี้เป็นเรื่องเป็นเรื่องตายของเขา คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติก็ควรจะมีสมาชิกถาวร หรือมีวาระการเป็นสมาชิกยาวนานเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้เพราะองค์ประกอบสมาชิกในปัจจุบันเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงสถานภาพในปีค.ศ. 1945 แต่ไม่ได้สะท้อนถึงความเป็นจริงในปัจจุบัน ที่สำคัญไม่น้อยกว่านั้นก็คือ สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงจะต้องยอมรับความรับผิดชอบที่มากับตำแหน่งด้วย มิใช่จะรับแต่ผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว คณะมนตรีฯ มิใช่สถานที่ที่ประเทศใดจะมุ่งแสวงหาแต่ผลประโยชน์แห่งชาติของตนเองเท่านั้น แต่จะต้องช่วยกันจัดการแก้ไขปัญหาความมั่นคงเป็นส่วนรวมด้วย


จะเห็นได้ว่านาย Kofi Annan ตั้งใจที่จะฝากข้อความข้างต้นให้รัฐบาลและประชาชนอเมริกันเป็นสำคัญ เขาเริ่มต้นสุนทรพจน์ด้วยการสรรเสริญนาย Harry S. Truman อดีตประธานาธิบดีคนที่ 33 ของสหรัฐอเมริกา ว่าเป็นผู้ที่สนับสนุนการดำเนินงานของ สหประชาชาติอย่างแข็งขันและช่วยวางรากฐานให้องค์การดำรงอยู่ได้จนทุกวันนี้ ขณะเดียวกัน นาย Kofi Annan ก็ได้ใช้โอกาสนี้กล่าวเตือนบทบาทของประธานาธิบดีบุชและสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันด้วยการกล่าวย้ำถึงคำที่อดีตประธานาธิบดีทรูแมนเคยพูดไว้ว่า “ไม่มีชาติไหนที่จะสามารถมีความมั่นคงของตนได้ด้วยการใช้อำนาจบาตรใหญ่เหนือชาติอื่น ๆ” นาย Annan ได้กล่าวต่อไปด้วยว่า สหประชาชาติจำเป็นที่จะต้องอาศัยบทบาทนำของสหรัฐ ในโลกปัจจุบันที่มีปัญหามากมาย เป็นความจริงที่ทุกคนจะต้องยอมรับว่าสหรัฐมีบทบาทดังกล่าวและได้เคยแสดงมาแล้วในอดีตและยังสามารถที่จะแสดงบทบาทนี้ต่อไปในปัจจุบัน “ไม่มีสถาบันระหว่างประเทศใด ๆ ในโลกจะสามารถทำงานได้สำเร็จมากมายนักหากสหรัฐวางตัวเพิกเฉย แต่เมื่อใดสหรัฐนำตัวเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ก็จะทำงานได้สำเร็จเกินความคาดหมาย” “เมื่อใดก็ตามที่มีการใช้กำลัง โดยเฉพาะกำลังทางทหาร โลกจะยอมรับได้ก็ต่อเมื่อการใช้กำลังนั้นเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่ถูกต้อง เพื่อจุดหมายที่คนส่วนใหญ่เห็นร่วมกัน และเป็นไปตามครรลองที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป” เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่านาย Annan เคยแสดงความไม่เห็นด้วยกับบทบาทของรัฐบาลสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีบุชซึ่งตัดสินใจบุกอิรักโดยไม่ได้รับไฟเขียวจากคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ เมื่อถูกถามโดยนักข่าวว่าจะมีทางยุติสงครามในอิรักได้อย่างไร นาย Annan ก็ได้ตอบว่าสหรัฐจำเป็นที่จะต้องร่วมงานกับประเทศอื่น ๆ รวมทั้งอิหร่านและซีเรียในการแก้ไขปัญหา นอกจากนั้นก็ยังจะต้องหาทางให้อิรักกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าชีอะห์ สุหนี่ หรือเคิร์ดได้มีส่วนร่วมทางการเมืองและมีส่วนแบ่งจากรายได้น้ำมันอย่างยุติธรรมด้วย นาย Annan กล่าวเสริมด้วยว่าจะเป็นผลประโยชน์ของทุกฝ่าย หากสหรัฐจะดึงกลุ่มต่าง ๆ ที่กล่าวแล้วเข้ามาร่วมรับผิดชอบและทำงานร่วมกัน การที่จะให้อิรักมีความสงบเรียบร้อยมิใช่เป็นเพียงผลประโยชน์ของสหรัฐและชุมชนนานาชาติเท่านั้น แต่กับประเทศในภูมิภาคมากกว่าด้วยซ้ำไป


2.สุนทรพจน์ของ นายปัน กีมุน เลขาธิการสหประชาชาติคนใหม่ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่ผ่านมา สมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 61 ได้จัดพิธีรับมอบตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติคนใหม่ขึ้นที่นครนิวยอร์กโดยได้มีข้อมติกล่าวสดุดีผลงานการริเริ่มที่กล้าหาญของนาย Kofi Annan ในการลดความยากจนของประชากรโลก ส่งเสริมสันติภาพ ปกป้องสิ่งแวดล้อมและเริ่มกระบวนการการปฏิรูปสหประชาชาติ ข้อมตินี้ได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมดเป็นเอกฉันท์โดยไม่มีการออกเสียง และที่ประชุมได้ปรบมือเป็นเกียรติให้แก่นาย Annan อย่างยาวนาน หลังจากนั้นก็ได้มีพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของนายปัน กีมุน เป็นเลขาธิการสหประชาชาติคนที่ 8 ต่อ Sheikha Haya Rashed al-Khalifa ประธานสมัชชาสหประชาชาติคนปัจจุบันจากบาห์เรนโดยนายปันเป็นผู้ขอร้องเองให้มีการให้คำสัตย์ โดยการวางมือซ้ายลงบนกฎบัตรสหประชาชาติเป็นครั้งแรกด้วย นายปัน กีมุน ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อสมัชชาสหประชาชาติถึงแผนงานของเขา มีความสำคัญสรุปได้คือ


2.1 จะให้ความสำคัญในลำดับต้นต่อการแก้ไขปัญหาและนำสันติสุขมาสู่ตะวันออกกลางและดาร์ฟูร์ ใน แอฟริกา โดยในตะวันออกกลางนั้นเขาจะพยายามรื้อฟื้นแผนสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ซึ่ง สหประชาชาติมีส่วนร่างขึ้นร่วมกับสหภาพยุโรป รัสเซียและสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันก็ได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่ได้ทรุดหนักยิ่งขึ้นในเลบานอนและอิรัก สำหรับสถานการณ์ในดาร์ฟูร์ นายปัน กีมุน ได้ปวารณาตัวว่าจะร่วมแก้ไขนำสันติภาพมาสู่ซูดานด้วยตนเอง โดยจะได้เดินทางไปร่วมประชุมกับสหภาพแอฟริกา (African Union หรือ AU) เป็นการเดินทางครั้งแรกของเขา ในฐานะเลขาธิการองค์ การสหประชาชาติในปลายเดือนมกราคมศกหน้านี้ เนื่องจากขณะนี้ AU ได้จัดส่งกองกำลังของตนเข้าไป เพื่อรักษาสันติภาพแต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และได้ยืดเยื้อมาถึง 4 ปีแล้ว โดยมีประชาชนเสียชีวิตไปแล้วถึง 200,000 คน ทั้งยังก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ทางด้านมนุษยธรรมอย่างขนานใหญ่อีกด้วย


2.2 เกี่ยวกับอิหร่าน นายปัน กีมุน ได้กล่าวว่าการที่ผู้นำอิหร่านเรียกร้องให้มีการทำลายล้างรัฐอิสราเอล และการไม่ยอมรับว่านาซีได้เคยฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองว่าเป็นความจริง เป็น “สิ่งที่ยอมรับไม่ได้” และได้เรียกร้องให้ทุกประเทศยุติการเรียกร้องไม่ว่าโดยคำพูดหรือการกระทำให้มีการกำจัดประเทศหรือประชาชนชาติใดชาติหนึ่ง สำหรับปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่าน นายปัน กีมุน ก็ได้กล่าวถึงผลกระทบที่จะมีต่อภูมิภาคและโลกโดยส่วนรวมและได้เรียกร้องให้อิหร่านหันหน้าเข้าเจรจากับ 6 ประเทศซึ่งได้ยื่นข้อเสนอความช่วย เหลือให้อิหร่านพิจารณาแลกกับการยุติการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมเป็นการตอบแทน


2.3 สำหรับเกาหลีเหนือกับอาวุธนิวเคลียร์ นายปัน กีมุน ได้เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว ขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีใต้ เขากล่าวว่าเขาจะติดตามการประชุม 6 ชาติรอบใหม่ที่ กรุงปักกิ่งซึ่งได้มีขึ้นหลังจากหยุดชะงักไป 13 เดือนอย่างถี่ถ้วน และจะได้พิจารณาหาข้อเสนอใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหานี้ต่อไปในฐานะเลขาธิการสหประชาชาติ


2.4 ในด้านการพัฒนา นายปัน กีมุน กล่าวว่าจะผลักดันให้มีการดำเนินการร่วมกันในหลาย ๆ ทางในการที่จะบรรลุถึงวัตถุประสงค์การพัฒนาของสหประชาชาติซึ่งรวมถึงการลดสภาวะความยากจนข้นแค้นของประชากรโลกลงครึ่งหนึ่ง และให้เด็กได้รับการศึกษาโดยทั่วถึงกันภายในปีค.ศ. 2015


2.5 สำหรับปัญหาการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ นายปัน กีมุน กล่าวว่า จะทำตัวเป็นผู้ประสานระหว่างประเทศใหญ่ที่ร่ำรวยกับประเทศเล็กที่ยากจนซึ่งกำลังมีปัญหาแตกร้าวกันอย่างหนักเกี่ยวกับแผนการปฏิรูปบางส่วนของนาย Kofi Annan และกล่าวด้วยว่าตนจะได้สร้างกลุ่มเจ้าหน้าที่ของสำนักเลขาธิการสหประชาชาติขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะไม่อุ้ยอ้าย รับผิดชอบ และมีประสิทธิภาพที่จะเผชิญกับความท้าทายของศตวรรษใหม่ได้เป็นอย่างดี งานสำคัญเร่งด่วนของเขาคือการฟื้นฟูความไว้วางใจใน ตัวองค์การสหประชาชาติเอง และระหว่างประเทศสมาชิกกับสำนักเลขาธิการด้วย


จากสุนทรพจน์ของเลขาธิการสหประชาชาติทั้งสองท่านเราก็จะเห็นได้ว่า เรื่องที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับสันติภาพและความมั่นคงของโลกมีเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งในทุกหัวข้อนี้ ผมก็ได้เขียนถึงภูมิหลังและความเป็นมาของปัญหาแล้วทุกเรื่อง ซึ่งขอให้ท่านผู้อ่านที่สนใจกลับไปค้นอ่านได้ในเดลินิวส์ฉบับวันเสาร์ที่ผ่านๆมา กล่าวได้ว่าปัญหาอิรักซึ่งผมได้เขียนโดยละเอียดในสองเสาร์ที่แล้ว ก็ยังเป็นปัญหาระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐและของโลกในรอบปี 2006 หลังจากที่คณะกรรมาธิการร่วม ISG (Iraq Study Group) ภายใต้ประธานร่วมจาก ทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตได้เผยแพร่ผล การพิจารณาของตนแล้ว ขณะนี้ก็ได้มีกระบวนการประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวางจากผู้เกี่ยวข้องในวงการต่าง ๆ แม้แต่นายโคฟี่ อันนัน ก็ได้ออกมากล่าวว่าจะต้องดึงอิหร่านและซีเรียเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาด้วย แต่นางสาว Condoleeza Rice รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาก็ได้ออกมากล่าวแล้วว่าไม่เห็นด้วย และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น ประธานาธิบดีบุชเองมิได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาตามที่คณะกรรมาธิการฯเสนอมา แต่ข่าวล่าสุดก็ได้แสดงท่าทีว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้เพิ่มจำนวนทหารอเมริกันขึ้นในอิรักซึ่งเป็นข้อเสนอที่ประธานาธิบดีบุชและที่ปรึกษาทั้งหลายไม่เห็นด้วยมาโดยตลอด นอกจากนั้นก็ได้เริ่มเปลี่ยนท่าทีที่เคยพูดเคยโต้เถียงฝ่ายคัดค้านมาตลอดเวลาว่ากองทัพสหรัฐจะต้องได้ชัยชนะในอิรักเป็นการแน่นอน โดยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ประธานาธิบดีบุชได้ออกมาประกาศว่า สหรัฐไม่ได้กำลังได้ชัยชนะในอิรักแต่ก็ยังมิได้พ่ายแพ้ และการที่ประชาชนอเมริกันได้เลือกพรรคเดโมแครตเข้ารัฐสภาอย่างท่วมท้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาไม่ได้เป็น สัญญาณเตือนให้รัฐบาลยอมรับความพ่ายแพ้ในอิรักแต่เป็นการให้รัฐบาลหาทางเลือกใหม่ ๆ ที่จะชนะสงคราม ดังนั้น เขาจึงได้ส่งนาย Robert Gates รัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ไปอิรัก เพื่อศึกษาลู่ทางที่จะเสริมกำลังทั้งทหารราบและนาวิกโยธินสหรัฐเฉพาะเป็นช่วงเวลาระยะสั้นต่อไป ประธานาธิบดีบุชไม่ได้ให้รายละเอียดไปมากกว่านี้ แต่มีข่าวรายงานว่า ตามแผนจะมีการเสริมกำลังทหารเป็นจำนวน 70,000 นาย ซึ่งจะต้องใช้จ่ายงบประมาณอีกถึง 100,000 ล้านเหรียญ นอกเหนือจากงบ 70 ล้านเหรียญ ซึ่งรัฐสภาได้อนุมัติไปแล้วสำหรับสงครามอิรักในปี ค.ศ. 2007 ดังนั้นเรื่องนี้ประธานาธิบดีบุชจะดำเนินการได้สำเร็จมากน้อยเพียงใดก็คงที่จะต้องติดตามกันต่อไป อย่างไร ก็ตาม ในช่วงเดียวกันเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม นาย Ayman al-Zawahri บุคคลหมายเลขสองของกลุ่มอัล-เคดา ก็ได้ออกแถลงการณ์กล่าวว่า สหรัฐกำลังต้องการถอนตัวออกจากอิรัก แต่สหรัฐกำลังเจรจากับกลุ่มที่ไม่ถูกต้อง “ข้าพเจ้าอยากจะบอกกับทั้งฝ่ายรีพับลิกันและฝ่ายเดโมแครตว่า สหรัฐกำลังพยายามเจรจากับกลุ่มต่าง ๆ เพื่อหาทางถอนกำลังออกจากอิรัก แต่กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้จะไม่สามารถหาทางออกให้สหรัฐได้ และความพยายามต่อไปจะมีแต่ความล้มเหลว” นาย al-Zawahri ไม่ได้กล่าวออกมาชัดเจนว่าสหรัฐต้องหันมาเจรจากับกลุ่มอัล-เคดาซึ่งช่วยสนับสนุนกลุ่มชีอะห์ในการก่อการร้ายเป็นสำคัญในปัจจุบัน แต่ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่าเขาหมายเช่นนั้น ซึ่งก็จะเท่ากับเป็นการผูกปมปัญหาให้ลึกเข้าไปอีก


นอกจากนั้นแล้วนาย al-Zawahri ก็ยัง ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในตะวันออกกลางด้วยซึ่งก็กำลังมีความยุ่งเหยิงไม่แพ้กับสถานการณ์ในอิรัก หลังจากที่กลุ่มปาเลสไตน์ได้จัดให้มีการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2006 ที่ทำให้กลุ่มฮามาสได้รับเลือกตั้งเข้าไปร่วมในรัฐสภากับประธานาธิบดี Mahmoud Abbas ของปาเลสไตน์ผู้สืบต่ออำนาจมาจากอดีตประธานาธิบดี และตกลงกันไม่ได้ในการตั้งรัฐบาลร่วม จนทำให้เกิดการปะทะด้วยกำลังระหว่างกลุ่มของนายอับบาสกับกลุ่มฮามาสตลอดมา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้กระบวนการแสวงหาสันติภาพในตะวันออกกลางต้องหยุดชะงักลง ประธานาธิบดี Abbas ได้หาทางออกด้วยการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งฝ่ายฮามาสก็ไม่เห็นด้วยและอาจบอยคอตการเลือกตั้งดังกล่าว ในการนี้ นาย al-Zawahri ได้ออกมากล่าวประณามการเลือกตั้งที่นาย Abbas เสนอว่าเป็นทางเลือกที่ผิดและจะนำไป สู่ความพ่ายแพ้ของฝ่ายอาหรับในที่สุด เนื่องจากมีแต่ การดำเนินสงครามทางศาสนา (holy war) เท่านั้นที่ จะเป็นทางเลือก นาย al-Zawahri ได้กล่าวประณาม นาย Abbas ด้วยว่าเป็นคนของอเมริกันและหากชาวปาเลสไตน์รับเขาเป็นประธานาธิบดีต่อไป ก็จะเท่ากับเป็นการสิ้นสุดของสงครามศาสนาของฝ่ายอาหรับด้วย


สำหรับปัญหานิวเคลียร์ในอิหร่าน ซึ่งชุมชนระหว่างประเทศต่างก็ให้ความสนใจ เนื่องจากสหรัฐได้เคยขู่ไว้ว่าจะใช้กำลังต่ออิหร่านเป็นทางเลือกสุดท้ายหากอิหร่านไม่ยอมล้มเลิกการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม ในเรื่องนี้ นาย Kofi Annan ได้ออกมากล่าวเตือนว่า การใช้กำลังต่ออิหร่านจะเป็นภัยร้ายแรง (disastrous) และควรที่จะแสวงหาทางออกด้วยการเจรจาภายใต้องค์การ สหประชาชาติต่อไป และหลังจากที่การเจรจาระหว่างสมาชิกถาวรทั้ง 5 ของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติและเยอรมนีได้ดำเนินติดต่อมาถึง 4 เดือน ข่าวล่าสุดก็คือคณะมนตรีความมั่นคงสามารถตกลงออกข้อมติโดยเอกฉันท์ ที่จะปิดล้อมทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านได้แล้วเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม มีข้อความสำคัญๆคือ สั่งห้ามทุกประเทศมิให้ให้เทคโนโลยีและสิ่งอื่นใดที่จะช่วยอิหร่านในการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมต่อไปและยังได้อายัดทรัพย์สมบัติของบริษัทอิหร่าน 10 บริษัทและบุคคลชาวอิหร่านอีก 11 คนที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมด้วย และหากอิหร่านยังดื้อดึงก็จะดำเนินมาตรการอื่นๆต่ออิหร่านเพิ่มขึ้นไปอีก ข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติได้ทำให้ประธานาธิบดี Ahmadinejad และผู้นำอื่น ๆ ของอิหร่านโกรธแค้นเป็นอันมาก และได้ประกาศว่าจะพิจารณาลดระดับหรือตัดขาดความสัมพันธ์กับองค์การปรมาณูเพื่อสันติ หรือ IAEA ทั้งยังยืนยันที่จะทำการทดลองเพิ่มสมรรถนะแร่ยูเรเนียมต่อไปอีกด้วย


ขณะที่ปัญหานิวเคลียร์ในอิหร่านกำลังมีการดำเนินการต่อ ก็ได้มีการเจรจา 6 ฝ่ายเกี่ยวกับปัญหา อาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือในกรุงปักกิ่งต่อเช่นกัน แต่แรกข่าวที่ออกมาไม่ดีนัก เนื่องจากเกาหลีเหนือยืนยันให้สหรัฐล้มเลิกข้อจำกัดทางการเงินก่อนที่จะมีการเจรจาเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม เมื่อใกล้ถึงกำหนดสิ้นสุดการประชุมในวันที่สาม ที่สุดที่ประชุมก็ได้ตัดสินใจให้มีการประชุมต่อไปอีกสองวัน ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องแสดงว่าน่าจะมีหนทางที่จะก้าวหน้าได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดการประชุมก็ต้องชะงักงันลงอีกครั้งหนึ่ง โดยฝ่ายเกาหลีเหนือก็ได้ข่มขู่ว่าจะดำเนินการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของตนต่อไปให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น


สรุปได้ว่า สถานการณ์ของโลกที่เป็นปัญหาหลัก ๆ ก็ยังคงเป็นปัญหาต่อไปในปีค.ศ. 2007 ที่จะถึงนี้ ซึ่งเราต้องยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ ที่สำคัญ ๆ นั้น เป็นเรื่องที่จะไม่สามารถแก้ไขได้ในวันเดียวหรือสองวันเพราะเป็นเรื่องที่มีความคิด ความเชื่อถือ และการตัดสินใจของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ปัญหานิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือและอิหร่านซึ่งยังคงคั่งค้างอยู่ ก็น่าจะบรรลุถึงข้อสรุปอย่างใดอย่างหนึ่งในปีหน้านี้ เนื่องจากเวลาได้งวดเข้ามาทุกทีแล้ว ส่วนปัญหาที่ซับซ้อนหนักหน่วงกว่าเช่นปัญหาตะวันออกกลางก็จะยืดเยื้อต่อไปอีกอย่างแน่นอน สำหรับปัญหาอิรัก สิ่งที่เราควรจับตามองก็คือในจุดที่ว่าประชาชนสหรัฐและประธานาธิบดีบุชจะยืนหยัดในท่าทีที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องได้อีกนานเท่าไร เมื่อไรที่ประชาชนสหรัฐ เอือมระอาต่อการเสียชีวิตรายวันของทหารอเมริกันจนสุดที่จะทนได้ เมื่อนั้นเหตุการณ์ที่เคยเกิดในเวียดนาม ก็คงจะเกิดขึ้นกับอิรักอีกครั้งหนึ่ง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น