วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2552

วันแม่

พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระนามเดิมว่า หม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ กิติยากร ทรงเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ ของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น พลเอกพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) กับหม่อมหลวง บัว กิติยากร เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2475 ณ บ้านของพลเอกเจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ บิดาของหม่อมหลวงบัว กิติยากร ที่ถนนพระราม 6 กรุงเทพมหานคร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระเชษฐาและพระกนิษฐภคินี รวม 3 องค์คือ
หม่อมราชวงศ์ กัลยาณกิติ์ กิติยากร หม่อมราชวงศ์ อดุลยกิติ์ กิติยากร หม่อมราชวงศ์ บุษบา กิติยากร หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เติบโตขึ้นมาในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงทำให้ต้องอยู่ไกลจาก พระบิดามารดาในตอนแรก โดยได้ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปประทับ ที่จังหวัดสงขลา ในปี 2476
ต่อมา เมื่อหม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ มีอายุได้ 5 ขวบ ได้เข้ารับการศึกษาครั้งแรก ในชั้นอนุบาลที่โรงเรียน ราชินี เมื่อปี 2480 และเมื่อสงครามมหาเอเซียบูรพา ได้แผ่ขยายมาถึงประเทศไทย กรุงเทพมหานคร ถูกโจมตีทางอากาศบ่อยครั้ง ทำให้การคมนาคม ขาดความสะดวกและปลอดภัยหม่อมเจ้านักขัตรมงคล จึงให้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ย้ายไปเรียนที่ โรงเรียนเซ็นต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ ในชั้นประถมศึกษา ปีที่ 2 จนถึงชั้นมัธยมศึกษา เพราะอยู่ใกล้บ้าน และที่นี่หม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ ได้เริ่มเรียนเปียโน ซึ่งสามารถเรียนได้ดีและเร็วเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจาก ความสามารถทางด้าน ภาษาต่างประเทศคือ ภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศส ที่สามารถเรียนได้ดีเช่นกัน
เมื่อสงครามโลก ครั้งที่ 2 สงบลง รัฐบาลไทยซึ่งขณะนั้นมี พันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ทูลขอให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคล ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำ สำนักเซ็นต์เยมส์ ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2489 โดยได้ทรงพาครอบครัวทั้งหมดไปอยู่ด้วย ขณะนั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ มีอายุได้ 13 ปีเศษและเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว ระหว่างที่อยู่ในประเทศอังกฤษ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้ศึกษาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส กับครูพิเศษ ควบไปกับการเรียนเปียโน ต่อมาไม่นานนัก หม่อมเจ้านักขัตรมงคล ได้ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต ประจำประเทศเดนมาร์ก และต่อไปที่ประเทศฝรั่งเศส หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ยังคงเรียนเปียโนเพื่อหาโอกาส เข้าศึกษาต่อ ในวิทยาลัยการดนตรี ที่มีชื่อของกรุงปารีส และที่ประเทศ ฝรั่งเศสนี้เองที่ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช (ขณะนั้นทรงเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว และเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์) ซึ่งทรงโปรดการ เสด็จประพาสกรุงปารีส โดยทางรถยนต์จากสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อทอดพระเนตรรถยนต์ แทนคันเดิม ที่รับราชการสนอง พระเดชพระคุณมาเป็นเวลานาน และการแสดงดนตรีของคณะที่มีชื่อเสียงอยู่บ่อย ครั้ง และในระหว่าง ที่เสด็จฯ มายังกรุงปารีส ก็จะทรง ประทับที่สถานทูตไทย ประจำประเทศฝรั่งเศส เช่นเดียวกัน กับนักเรียนไทยคนอื่น และเนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดการดนตร ีเป็นพิเศษ ขณะที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เอง ก็สนใจ และรอบรู้เข้าใจ ในศิลปะการดนตรีเป็นอย่างดี ทำให้เป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัย จนกลายเป็น ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นในที่สุด ในปี 2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และทรงเข้ารับ การรักษาพระองค์ในโรงพยาบาล โดยมีหม่อมหลวงบัว และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เข้าเฝ้าฯ ถวายการพยาบาลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา และในช่วงระยะเวลาที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์อยู่เฝ้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่สวิสเซอร์แลนด์นั้น สมเด็จพระราชชนนี ได้ทรงรับเป็นธุระ จัดการให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เข้าศึกษาใน Pensionnat Rinate Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ของโลซานน์ จนเมื่อหลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหายจาก อาการประชวรแล้ว ได้ทรงหมั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เป็นการภายในเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 ภายหลังจากพิธีหมั้นผ่านไป หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ยังคงศึกษาอยู่ต่อจนเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯนิวัติพระนคร จึงทรงโปรดให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ตามเสด็จ พระราชดำเนินกลับมาด้วย เพื่อร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในเดือนมีนาคม 2493 ต่อมาในวันที่ 28 เมษายน ปีเดียวกันนั้น ทรงโปรดให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้น ณ วังสระปทุม และโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ครั้นเมื่อ มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช โปรดให้เฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระราชินี สิริกิติ์ เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี หลังจากนั้นทั้ง 2 พระองค์ ได้เสด็จฯ กลับไปยังสวิสเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทรงรักษาพระองค์ และทรงศึกษาต่อ และได้เสด็จฯกลับมาประทับที่ประเทศไทยในปี 2495 ในปี 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ออกบรรพชาตามโบราณราชประเพณีเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม ถึง 5 พฤศจิกายน ในระหว่างที่ผนวชอยู่นี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ ซึ่งต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้เฉลิมพระอภิไธย เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อ 5 ธันวาคมศกนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชโอรส และพระราชธิดารวม 4 พระองค์คือ
1. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติ ณ สถานพยาบาล มองซัวซี นครโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2494 ต่อมาได้ทรงลาออกจาก ฐานันดรศักดิ์ เพื่อสมรสกับนายปีเตอร์ เลด เจนเซ่น ชาวอเมริกัน ทรงมีพระโอรสและพระธิดา 3 องค์ 2. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ บรมจักราดิศรสันตติวงศ์ เทเวศรธำรงสุรบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดชภูมิพลนเรศวรางกูล กิตติสิริสมบูรณ์ สว่างควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2495 ต่อมาในปี 2515 ทรงได้รับการสถาปนา ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมุฏราชกุมาร 3. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2498 ต่อมาทรงได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอิสริยยศ เป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรรัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2520 4. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 4 กรกฏาคม 2500 ทรงอภิเษกสมรสกับ เรืออากาศโท (ยศในขณะนั้น) วีระยุทธ ดิษยะศริน ทรงมีพระธิดา 2 พระองค์ อ้างอิงจาก เว็บไซต์กองทัพอากาศ



ประวัติความเป็นมา

ชาวอเมริกันเป็นผู้กำหนดให้มีวันแม่อย่างเป็นทางการขึ้น และผู้ที่พยายามเรียกร้องให้มีวันแม่ในอเมริกา คือ แอนนา เอ็ม. จาร์วิส คุณครูแห่งรัฐฟิลาเดลเฟีย แต่กว่าเธอจะประสบความสำเร็จก็ครบ 2 ปีพอดีในปี ค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) โดยประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน ได้มีคำสั่งให้ถือวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ และดอกไม้สำหรับวันแม่ของชาวอเมริกันก็คือดอกคาร์เนชั่น ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือถ้าแม่ยังมีชีวิตอยู่ ให้ประดับตกแต่งบ้าน หรือประตูด้วยดอกคาร์เนชั่นสีชมพู แต่ถ้าแม่ถึงแก่กรรมไปแล้ว ให้ประดับด้วยดอกคาร์เนชั่นสีขาว สำหรับในประเทศไทยนั้นมีการจัดงานวันแม่ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2486 ณ.สวนอัมพร โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดงาน แต่เนื่องจากช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อมาจึงต้องงดไปโดยปริยาย หลังจากผ่านพ้นวิกฤติสงครามไปแล้ว หลายหน่วยงานได้พยายามรื้อฟื้นให้มีวันแม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง แต่กำหนดวันแม่ที่ประชาชนนิยม และเป็นที่รับรองของรัฐบาล คือวันที่ 15 เมษายน โดยเริ่มจัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 กำหนดงานวันแม่ในวันนี้ยังดำเนินต่อมาอีกหลายปี ก็ต้องมาหยุดชะงักลงอีก ด้วยเหตุผลที่ว่าสภาวัฒนธรรมแห่งชาติผู้จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน ซึ่งก็คือกระทรวงวัฒนธรรมที่ถูกยุบไปนั่นเอง
ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย เห็นว่าควรมีการจัดงานวันแม่ต่อไป จึงได้รื้อฟื้นงานวันแม่ขึ้นมาอีก และได้กำหนดให้จัดงานวันแม่ คือวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวก็เลิกไป จนกระทั่งในปี พ.ศ.2519 คณะกรรมการอำนวยการ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์เห็นว่า ควรกำหนดวันแม่ให้แน่นอนเสียที จึงได้กำหนดวันแม่ใหม ่โดยให้ถือว่าวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ และ กำหนดให้ดอกมะลิเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ตั้งแต่นั้นมา


เหตุผลที่ให้ดอกมะลิ เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ ก็เนื่องจาก ดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่มีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกลและหอมได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความรัก อันบริสุทธิ์ของแม่ ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย...
นักภาษาศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า คำว่า "แม่" ของทุก ๆ ภาษา มาจากการออกเสียงของเด็ก โดยคำขึ้นต้นด้วยพยัญชนะริมฝีปากคู่ (Bilabial) ได้แก่ ม , พ , ป ,บ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นพยัญชนะชุดแรก ที่เด็กสามารถทำเสียงได้ โดยการใช้ริมฝีปากบนและล่าง ดังเช่น
ภาษาไทย แม่
ภาษาจีน ม๊ะ หรือ ม่า
ภาษาฝรั่งเศส la mere (ลา แมร์)
ภาษาอังกฤษ mom , mam
ภาษาโซ่ ม๋เปะ
ภาษามุสลิม มะ
ภาษาไทใต้คง เม
เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น