วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552

แหล่งแร่ทองคำ

ทองคำเกิดขึ้นได้จากแหล่งปฐมภูมิ (Primary deposit) และแหล่งทุติยภูมิ (Secondary deposit)

๑ เกิดจากแหล่งปฐมภูมิ คือ เป็นแหล่งแร่อยู่ในสายหรือทางแร่ทองคำ (gold bearing vien) ซึ่งเกิดรวมกับหินอัคนี เช่น เกิดรวมในสายแร่ควอตซ์ปนกับแร่ไพไรต์ แร่คาลโดไพไรต์ แร่กาลีนา แร่สฟาเลอไรต์ ซึ่งแร่เหล่านี้มีความสัมพันธ์กับมวลหินแกรนิต การเกิดของแร่ทองคำแบบนี้จะมีสารละลายน้ำร้อน (hydrothermal solution) ที่มาจากต้นกำเนิดที่เรียกว่า หินหนืด (magma) ซึ่งเคลื่อนตัวตามรอยแตกของหินภายใต้เปลือกโลก ส่วนบนของมวลหินหนืดจะเป็นหินแกรนิต และสารละลายน้ำร้อนจะตกผลึกให้เป็นแร่ หรือสายแร่ตามรอยแตก
๒. เกิดจากแหล่งทุติยภูมิ เป็นแหล่งแร่บนลานแร่ (placer deposit) ซึ่งมีธารน้ำไหลผ่าน มักปนกับแร่หนักชนิดอื่นๆที่ทนกับการสึกกร่อน เช่น แร่แมกนีไทต์ แร่อิลเมไนต์ แร่การ์เนต ทองคำขาว โดยมีชั้นดินหรือกรวดทรายปิดทับชั้นที่มีแร่ไว้ การเกิดแบบนี้ หินต้นกำเนิดมักอยู่ในภูมิ-ประเทศที่เป็นภูเขาหรือพื้นที่ลาดชัน เมื่อเกิดการผุสลายตัวไปตามธรรมชาติ ก็ถูกธารน้ำไหลพัดพาไปจากแหล่งเดิม แต่ทองคำและแร่อื่นที่หนักและทนต่อการสึกกร่อนผุพัง ก็ จะแยกตัวออกจากเศษหินดินทรายอื่นๆ และสะสมมากขึ้นตรงบริเวณที่เป็นแหล่งลานแร่ ซึ่งถ้าเป็น แหล่งแร่ท้องน้ำ (stream deposit) แร่จะสะสมรวมตัวกันมากขึ้นบริเวณท้องน้ำจนกลายเป็นแหล่งแร่ ส่วนการสะสมของแร่ที่มีอยู่ตามไหล่เขา หรือที่ลาดชันใกล้กับหินต้นกำเนิด หรือสายแร่เดิม จะเป็นแหล่งแร่พลัด (eluvial deposit) ต่อมาจะมีตะกอนของดิน ทราย กรวดมาทับถมกันเป็นชั้นหนา จนเกิดเป็นลานหรือแหล่งแร่ทองคำ การผลิตทองคำของโลกส่วนใหญ่จะได้จากแหล่งลานแร่ซึ่งพบได้ในทุกทวีป แหล่งแร่ที่ถือว่าสำคัญที่สุดอยู่ที่มณฑลทรานสวาล ในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตทองคำได้ถึงร้อยละ ๔๐ ของผลผลิตทั่วโลก

แหล่งแร่ทองคำในประเทศไทย
ในประเทศไทยได้พบแหล่งแร่ทองคำ มาแล้วในหลายจังหวัด ที่รู้จักกันดี ได้แก่ แหล่งแร่ทองคำโต๊ะโมะ อยู่ที่อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส (ใครจะไปเอามาฟ่ะ) และแหล่งทองคำในเขตอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้ ยังมีแหล่งแร่ทองคำในอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำพูน และจังหวัดเลย ปัจจุบันมีการทำเหมืองแร่ทองคำในเชิงพาณิชย์ที่แหล่งแร่ทองคำชาตรี ในบริเวณอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยได้พัฒนาเปิดเหมืองทองคำ รวมทั้งตั้งโรงงานถลุงแร่ทองคำและเงิน เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๔
คัดลอกมา เพียงบางส่วน สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 29
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับทองคำ โดย นายทวีศักดิ์ เกษปทุม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น